การเลี้ยงสัตว์อย่างรับผิดชอบ (Responsible Pet Ownership)

Posted by: Admin 38 30 เม.ย. 2567

การเลี้ยงสัตว์อย่างรับผิดชอบ (Responsible Pet Ownership) 
"การเลี้ยงสัตว์อย่างรับผิดชอบ" (Responsible Pet Ownership) เป็นเรื่องที่ฟังดูง่ายแต่ในความเป็นจริงแล้วมีเรื่องต้องพิจารณาเยอะมาก และแทบไม่ต่างอะไรจากการวางแผนมีลูกเลย จึงต้องอาศัยการตัดสินใจอย่างรอบคอบ โดยต้องคำนึงถึงปัญหาที่อาจเกิดขึ้นที่อาจส่งผลกระทบต่อผู้เลี้ยงสัตว์ และสัตว์เลี้ยงของเรา เช่น การคำนึงถึงค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาสัตว์หากเกิดการเจ็บป่วย การหาผู้อุปการะสัตว์เลี้ยงไปดูแลต่อหากเจ้าของสัตว์ไม่สามารถดูแลได้ การอาศัยอยู่ร่วมกันหากมีการเลี้ยงสัตว์หลายตัวในพื้นที่เดียวกัน 
 
3 ประเด็นสำคัญ การเลี้ยงอย่างรับผิดชอบ 
1) ความรู้ความเข้าใจธรรมชาติของสัตว์เลี้ยง เป็นปัจจัยแรกที่ควรคำนึงถึงเพื่อพิจารณาว่าความเป็นอยู่ของเราเหมาะสมกับสัตว์เลี้ยงชนิดนั้นหรือไม่ เช่น หากคุณเป็นคนที่ไม่ชอบออกกำลังกาย อาศัยในพื้นที่จำกัด การเลี้ยงสุนัขพันธุ์ใหญ่หรือพันธุ์ที่มีพลังงานเยอะอาจจะไม่ได้เหมาะสมที่สุด นอกจากนี้ควรศึกษาถึงปัญหาสุขภาพที่มักพบในสัตว์สายพันธุ์ต่าง ๆ  อาทิ สุนัขพันธุ์หน้าสั้นมักปัญหาเรื่องระบบทางเดินหายใจอันเนื่องมาจากโครงสร้างใบหน้าที่ผิดรูป และอาจมีความจำเป็นต้องทำการผ่าตัดเพื่อแก้ไขปัญหา การทราบสิ่งเหล่านี้ตั้งแต่เนิ่นๆ จะช่วยให้ผู้เลี้ยงสามารถประเมินความพร้อมได้ในเบื้องต้น ว่าควรจะต้องเตรียมตัวอย่างไรก่อนรับสัตว์เลี้ยงมาเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว
 
2) ความรับผิดชอบต่อสัตว์เลี้ยงของเรา เพราะสัตว์เลี้ยงไม่สามารถดูแลตัวเองได้ในทุกเรื่อง ฉะนั้นผู้เลี้ยงต้องมีเวลาในการดูแล ทั้งสุขภาพกาย และ สุขภาพใจของสัตว์ อาทิ มีเวลาในการพาสุนัขไปเดินเล่น การดูแลด้านความสะอาดและสุขลักษณะของสัตว์เลี้ยง การพาไปพบสัตวแพทย์เพื่อทำวัคซีนป้องกันโรคและถ่ายพยาธิเพื่อสวัสดิภาพและสุขภาพโดยรวมของตัวสัตว์
 
3) ความรับผิดชอบต่อผู้อื่นในสังคม เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดเนื่องจากเราอยู่ในสังคมที่มีความหลากหลาย ต่อให้เราเลี้ยงสัตว์เลี้ยงของเราเหมือนครอบครัวอย่างไรคงปฎิเสธไม่ได้ว่าสัตว์เลี้ยงของเราอาจไม่ได้น่ารักสำหรับทุกคน เพื่อให้สัตว์เลี้ยง สามารถอยู่ร่วมกับคนอื่นในสังคมได้ เจ้าของสัตว์เลี้ยงจึงมีหน้าที่ต้องดูแลในส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสัตว์เลี้ยงของตน อาทิ การฝึกพฤติกรรมไม่ให้สัตว์เลี้ยงของเราก่อความวุ่นวายให้แก่ผู้อื่น การดูแลความสะอาดหากสัตว์เลี้ยงของเราขับถ่ายในที่สาธารณะ
 
การช่วยเหลือสัตว์อย่างรับผิดชอบ
หากเราสำรวจตรอกซอกซอยต่างๆ ในกรุงเทพฯ  เรามักเห็นคนใจบุญเมตตาช่วยเหลือสัตว์จรจัดโดยการให้อาหารและน้ำ ซึ่งในอีกด้านก็อาจทำให้พื้นที่นั้นๆ เกิดปัญหาเพิ่มขึ้น เช่น การเพิ่มประชากรสัตว์เลี้ยงจรจัด ปัญหาพฤติกรรมสัตว์จากการหวงพื้นที่ ความเสี่ยงจากโรคที่มีสัตว์เป็นพาหะ เนื่องจากไม่มีการดูแลจัดการในส่วนอื่น เช่นการทำหมัน  ฉีดวัคซีนป้องกันโรคอย่างเหมาะสม หากต้องการช่วยเหลือสัตว์เลี้ยงจรจัด แนะนำให้แจ้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เช่น ปศุสัตว์ประจำจังหวัดหรือศูนย์พักพิงเนื่องจากหน่วยงานนั้นๆ มีบุคลากร และ ทรัพยากรที่สามารถดูแลสัตว์เลี้ยง และฝึกเพื่อปรับพฤติกรรมอย่างถูกวิธี เพื่อการรณรงค์หาบ้านใหม่ให้แก่สัตว์เหล่านั้นต่อไป